Saturday, February 2, 2013

การลอกคราบของเครฟิช (Crayfish Moulting)

สำหรับผู้เลี้ยงเครฟิชส่วนใหญ่มักจะเฝ้ารอว่าเครฟิชที่เลี้ยงอยู่จะลอกคราบเมื่อไร มีคำถามอยู่บ่อยในเวปบอร์ดว่าทำเครฟิชของตนไม่ลอกคราบเสียที

การที่เครฟิชจะลอกคราบเมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนที่ควบคุมการลอกคราบ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดคือ ฮอร์โมนเร่งการลอกคราบ กับฮอร์โมนยับยั้งการลอกคราบ ฮอร์โมนทั้งสองนี้จะทำงานควบคู่กับไป และมีการควบคุมซึ่งกันและกันไปตามระยะของการลอกคราบและปัจจัยต่างๆ

ผมขอยกปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการลอกคราบ ซึ่งจะแบ่งเป็นข้อๆ ดังนี้

1. อุณหภูมิน้ำ เครฟิชเป็นสัตว์เลือดเย็น ซึ่งธรรมชาติของสัตว์เลือดเย็น เวลาอุณหภูมิในสภาพแวดล้อมลดลง อย่างในช่วงฤดูหนาว ในเขตอบอุ่น เช่นในทวีปยุโรป ในธรรมชาติเครฟิชก็จะนอนนิ่งๆ ไม่ไหวติงในโคลน และในช่วงนี้มันก็จะไม่ลอกคราบเด็ดขาด คือเข้าสู่ภาวะการ 'จำศีล' นั่นเอง ช่วงนี้กระแสเลือดก็จะมีฮอร์โมนยังยั้งการลอกคราบอยู่สูง

2. อายุหรือขนาดของเครฟิช เครฟิชเป็นสัตว์ที่จะเติบโตขึ้น โดยวัดจากรอบของการลอกคราบ สำหรับเครฟิชอายุน้อยก็จะลอกคราบถี่หน่อย เพื่อเจริญเติบโต แต่สำหรับเครฟิชที่โตเต็มวัยตามสายพันธุ์แล้ว ความถี่ของการลอกคราบก็จะลดลงเป็นประมาณปีละครั้ง ซึ่งแตกต่างจากเครฟิชวัยเด็ก ที่ลอกคราบบ่อยๆ เป็นรายวันเลยทีเดียว

3. ปริมาณแร่ธาตุและสารอาหารที่สะสมไว้ในตัว ในระหว่างกระบวนการลอกคราบเครฟิชต้องใช้โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตในปริมาณสูง และต้องสะสมไว้อย่างเพียงพอ เพราะในระหว่างกระบวนการลอกคราบเครฟิชจะไม่กินอาหาร เมื่อสะสมอาหารไว้อย่างเพียงพอแล้ว ฮอร์โมนเร่งการลอกคราบก็จะสูงในกระแสเลือด

4. เครฟิชเพศเมียที่ผสมพันธุ์แล้ว จะไม่ลอกคราบจนกว่าลูกๆ จะฟักเป็นตัว ช่วงนี้กระแสเลือดก็จะมีฮอร์โมนยังยั้งการลอกคราบอยู่สูง

5. เครฟิชที่ถูกพาราสิตเกาะ ก็ไม่ลอกคราบ หรือลอกคราบช้า หรือลอกลอกคราบไม่สมบูรณ์ได้ เพราะถูกพาราสิตดึงสารอาหารไปใช้จนไม่สามารถสะสมสารอาหารและแร่ธาตุไว้ได้ (ข้อนี้จะสัมพันธ์กับข้อ 3. ที่ได้กล่าวมาแล้ว)

6. เครฟิชที่สูญเสียรยางค์ต่างๆ เช่น ก้าม หรือขา ยิ่งจำนวนรยางค์ที่สูญเสียยิ่งมากก็ยิ่งจะไปกระตุ้นให้เร่งสร้างฮอร์โมนกระตุ้นการลอกคราบ เห็นได้ชัดเจนในเครฟิชที่สูญเสียรยางค์มากกว่า 4 ชิ้นขึ้นไป จะลอกคราบเร็วอย่างมากเมื่อเทียบกับภาวะปกติ ในขณะเดียวกันก็จะเข้าสู่กระบวนการงอกใหม่ (Autotomy) เพื่อสร้างรยางค์ทดแทน ซึ่งเครฟิชมักจะสูญเสียรยางค์จากการต่อสู้กันเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะถูกตัดขาด หรือสลัดรยางค์เพื่อลดการสูญเสียก็เกิดขึ้นได้เสมอๆ หากการเครฟิชรวมกัน และไม่มีที่หลบซ่อนอย่างเพียงพอ หรือในกรณีที่ลอกคราบได้ไม่สมบูรณ์ก็เป็นเหตุให้สูญเสียรยางค์ได้เช่นกัน

การลอกคราบไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่มักเกิดกับเครฟิชที่โตเต็มที่ ซึ่งมักมีก้ามขนาดใหญ่ ทำให้สลัดเปลือกได้ยากกว่า บางครั้งการดีดตัวออกจากเปลือกก็ทำให้ก้ามขาดได้ ในกระบวนการงอกใหม่จะสร้างรยางค์ขึ้นมาใหม่ แต่ขนาดจะเล็กกว่าเดิม และต้องอาศัยการลอกคราบหลายครั้งจึงจะมีขนาดเท่าเดิม

มีภาพแสดงส่อสัญญาณว่าเครฟิชกำลังใกล้จะลอกคราบ โดยเปลือกเริ่มปริแยกออกจากกัน



วีดิทัศน์เครฟิช Procambarus clarkii กำลังลอกคราบ



คำแนะนำสำหรับมือใหม่

ในระหว่างการลอกคราบ และหลังลอกคราบประมาณ 24 ชั่วโมง เป็นเวลาที่อันตรายที่สุด เนื่องจากเปลือกยังอ่อนนุ่ม ทำให้อ่อนแอ อาจถูกสัตว์อื่น หรือเครฟิชร่วมตู้เดียวกันจับกินได้ง่าย เปลือกของเครฟิชจะค่อยๆ แข็งขึ้นภายใน 2-3 วันก็จะแข็งแรงเป็นปกติ สำหรับมือใหม่จึงควรเลี้ยงเครฟิชเดี่ยวๆ ก่อน ไม่ต้องมี Tank Mate ไม่ว่าจะเป็นเครฟิชด้วยกัน หรือสัตว์น้ำอื่นๆ แล้วให้สังเกตการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในระยะก่อนลอกคราบ จะมีอาการหัวเปิด ซึ่งส่อแสดงว่าการลอกคราบจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ต่อไปหากว่าต้องการจะเลี้ยงรวม จะได้จับเครฟิชแยกออกไปเลี้ยงเดี่ยวไว้เสียก่อนก็จะป้องกันการสูญเสียได้


ยังมีเนื้อหาต่อครับ ไว้พรุ่งนี้จะอัพเพิ่มครับ


ความรู้เชิงวิชาการ เกี่ยวกับการลอกคราบของกุ้ง http://www.shrimpcenter.com/t-shrimp016.html
     องค์ประกอบหลักของเปลือกส่วนใหญ่ประมาณมากกว่า 75% จะเป็นไคติน ที่เหลือจะเป็นพวกแร่ธาตุ เกลือ โปรตีนและไขมัน โดยขบวนการลอกคราบของกุ้งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น อายุกุ้ง, ปริมาณสารอาหารที่ จำเป็น, ความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำและตัวกุ้ง รวมทั้งผลกระทบเชิงลบต่างๆ ที่ชะงักการกินอาหารของกุ้ง ในช่วงระหว่างที่กุ้งลอกคราบจะมีความแตกต่างกันในแต่ละระยะ ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาที่เกิดขึ้นในวงจรการลอกคราบ
1.ระยะก่อนการลอกคราบ (Premolt) มีการเปลี่ยนแปลงคือ
ปลาย ระยะก่อนการลอกคราบกุ้งจะไม่กินอาหาร จะสังเกตได้ว่ากุ้งเริ่มกินอาหารไม่หมด แต่กุ้งจะดึงสารอาหารและพลังงานจากอาหารที่สะสมไว้ที่ตับมาใช้แทน การสร้างคราบใหม่ จะเริ่มสร้างไคตินจากอาหารที่สะสม ไกลโคเจนที่ถูกสะสมไว้จะลดลงเนื่องจากถูกนำไปสร้างไคตินในการพัฒนาให้ เปลี่ยนเป็นเปลือกใหม่ ในระยะนี้จะพัฒนาเข้าสู่ระยะลอกคราบเร็วหรือไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณสารอาหาร ที่จะพัฒนาเป็นเปลือกใหม่
หากกุ้งได้รับสารอาหารและเปลี่ยนเป็นไคติ นได้มากก็จะลอกคราบได้เร็ว แต่ในกรณีหากเกิดปัญหาการกินชะงัก หรือสารอาหารไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนให้อยู่ในรูปไคติน ในเปลือกใหม่ช่วงระยะเวลาในการลอกคราบ ก็จะยืดออกไป3-5 วัน ระยะนี้ความต้องการออกซิเจนของเซลล์จะเพิ่มมากขึ้น จะมีการดูดซึมพวกแร่ธาตุและสารอินทรีย์ต่างๆ ที่สะสมอยู่ที่เปลือกเก่ากลับเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านระบบเลือด ทำให้คราบเก่าอ่อนนุ่มลง
2. ระยะลอกคราบ (Intermolt) มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
ใน ระยะนี้กุ้งจะหยุดการเคลื่อนไหว กิจกรรมต่างๆ เริ่มลดลง ปริมาณกลูโคส, โปรตีนและไขมัน ในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากกุ้งต้องใช้พลังงานมากในการลอกคราบ เมื่อลอกคราบเสร็จแล้วจะมีการดูดซึมน้ำเข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยดูดซึมจากกระแสเลือดและเนื้อเยื่อของร่างกาย ระยะนี้จะสั้นมากเพราะเป็นระยะที่อันตรายที่สุดในวงจรชีวิต มักพบการสูญเสียกับกุ้งที่สะสม สารอาหารไม่เพียงพอ กุ้งลอกคราบไม่ออก ลอกคราบติด เปลือกนิ่ม ตัวกรอบแกรอบ และมักกินกันเอง
3. ระยะหลังการลอกคราบ (postmolt)หลัง จากการถอดคราบสมบูรณ์แล้ว การสะสมแคลเซียมก็เริ่มต้นทันทีเพื่อช่วยเร่งการแข็งตัวของเปลือก ระยะนี้จะมีการดึงน้ำและแร่ธาตุเข้าสู่ร่างกายมากที่สุด เพื่อเพิ่มขนาดและน้ำหนักของร่างกาย มีการสะสมแคลเซียมที่ บริเวณคราบชั้นนอก เมื่อเปลือกเริ่มแข็งก็จะเริ่มมีการเคลื่อนไหว และเริ่มกินอาหารเพิ่มขึ้น หลังจากระยะพักจากการลอกคราบ คราบใหม่แข็ง
หลัง การเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเสร็จสมบูรณ์ อาหารที่กุ้งกินในแต่ละวันจะเริ่มเพิ่มมากขึ้น อาหารที่กินเข้าไปจะถูกใช้ไปในการดำรงชีวิตประจำวัน ส่วนที่เหลือจะถูกเปลี่ยนไปให้สะสมในตับ อยู่ในรูปของสารอาหารพวก โปรตีน ไขมัน และ ไกลโคเจน เพื่อเป็นอาหารและพลังงานสำรองในการเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของสารที่จำเป็นใน การสร้างเปลือกใหม่อีกครั้ง ด้วยกลไกทางธรรมชาติ กุ้งจะรู้ตัวเองว่าสารอาหารต่างๆ ที่สะสมไว้เพียงพอ สำหรับการลอกคราบแล้ว การกินอาหารจะเริ่มลดลงเล็กน้อยและเตรียมเข้าสู่ระยะลอกคราบอีกครั้งเป็น วัฏจักรเช่นนี้ตลอด
ช่วงความถี่ ในการลอกคราบแต่ละครั้ง กุ้งจะมีความถี่และความห่างในการลอกคราบแต่ระยะแตกต่างกันตามอายุของกุ้ง ดังนี้
* กุ้งน้ำหนักประมาณ 2-5 กรัม (อายุประมาณไม่เกิน 30 วัน) ช่วงการลอกคราบ 6-7 วัน/ครั้ง
* กุ้งน้ำหนักประมาณ 6-9 กรัม (อายุ 1-2 เดือน) ช่วงการลอกคราบ 7-8 วัน/ครั้ง
* กุ้งน้ำหนักประมาณ 10-15 กรัม (อายุ 2-3 เดือน) ช่วงการลอกคราบ 9-10 วัน/ครั้ง
* กุ้งน้ำหนักประมาณ 16-22 กรัม(อายุ 3-4 เดือน) ช่วงการลอกคราบ 12-13 วัน/ครั้ง


อ้างอิง
http://www.fisheries.go.th/cf-pak_panang/index.php/2012-09-08-02-04-04/17-knowledge/aquaculture/70-2012-09-08-03-01-27?showall=&start=4
http://kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2010/8010/1/351326.pdf
http://jeb.biologists.org/content/214/1/3/F5.expansion.html
http://rydberg.biology.colostate.edu/mykleslab/Hormonal_control_of_molting.html

No comments:

Post a Comment